Friday, November 04, 2005

ข้อสอบกลางภาควิชาหลักเศรษฐศาสตร์ (ตอนที่สอง)

หลังจากถามข้อแรกทิ้งไว้นาน ได้เวลากลับมาตอบคำถามข้อแรก และถามคำถามข้อสองแล้วครับ

ก่อนอ่านข้อสอง ถ้าใครยังไม่ได้อ่านคำถามข้อแรกและคำตอบที่มีผู้ร่วมสนุกมากมายเชิญไปอ่านที่นี่ก่อนนะครับ ท่าน corgiman ที่พักหลังเริ่มห่างหายจากวงการ ให้ความกรุณาแปะคำตอบไว้บนบลอกของท่านด้วย

จริงๆแล้ว ผมว่าคำถามข้อแรกของผมมันชี้นำไปหน่อย จริงๆน่าจะถามเพิ่มว่า ในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมนโยบาย ท่านควรจะทำอะไรหรือไม่ นอกเหนือจากคำถามว่า จะทำอย่างไร

ผมว่าน่าสนใจเหมือนกันว่า อะไรคือบทบาทของ "รัฐ" ในการจัดการกับปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

คุณ corgiman จากสำนัก midway ให้ความเห็นว่า รัฐไม่ควรทำอะไรปล่อยให้กลไกตลาดมันจัดการตัวมันเอง คุณ biggie บอกว่าตัดค่าใช้จ่ายภาครัฐ และค่อยๆทยอยปล่อยค่าเงินให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น (แต่บอกแล้วนะครับ ว่าเจ้าของประเทศไม่อยากปรับค่าเงิน)

ในกรณีสมมุตินี้ เครื่องชี้นำว่าประเทศนี้อาจจะมีปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ คือตัวเลขการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงขึ้น

สำหรับคนที่ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์โดยกำเนิด อาจสงสัยว่าบัญชีเดินสะพัดนี่ มันเดินไปไหน แล้วสะพัดยังไง ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า current account ครับ มันคือบัญชีบันทึกการไหลเข้าออกของทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับ real transactions (ตรงข้ามกับ financial transactions) ซึ่งรวมไปถึงการนำเข้า ส่งออก สินค้าและบริการ และค่าตอบแทนปัจจัยการผลิต (เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล ฯลฯ)

บัญชีเดินสะพัดเป็นส่วนหนึ่งของดุลการชำระเงิน (balance of payment) ซึ่งบันทึกเงินที่ไหลเข้าออกประเทศ อีกส่วนหนึ่งใหญ่ๆของดุลชำระเงินคือ บัญชีการเงิน (financial account) ถ้าใครเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์สมัยก่อน เขาเรียกบัญชีทุน หรือ capital account ครับ ซึ่งบันทึกเงินไหลเข้าออกที่เกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นและลดลงของทรัพย์สินและหนี้สิน เช่น การชำระค่าสินค้าและบริการ เงินกู้ที่ต่างประเทศ เงินทุนที่เข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือเงินทุนต่างชาติที่เอาเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศ

หรือพูดแบบง่ายๆ (โดยไม่พิจารณาเงินทุนสำรอง) ได้ว่า ดุลบัญชีเดินสะพัด + ดุลบัญชีการเงิน = ดุลการชำระเงิน นั่นเอง


ผมว่าผมอาจจะต้องถอยกลับมาก้าวหนึ่งก่อน แล้วถามใหม่ว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลสูงขึ้นน่ะ เป็นสัญญาณบอกว่าประเทศนี้มีปัญหาเสถียรภาพหรือเปล่า

เอ...แต่ทำไมใครต่อใครต้องไปสนใจเรื่องปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัดด้วยละ ถ้าเราเกินดุลการชำระเงิน แปลว่าเราได้เงินตราต่างประเทศมากกว่าที่เราจ่ายออกไป และเราสะสมทุนสำรองเพิ่มขึ้นทุกปี ก็น่าจะสบายใจได้แล้วนี่หน่า

แต่ผู้รู้หลายๆท่านบอกว่า ถ้าบัญชีเดินสะพัดขาดดุล แปลว่าเราต้องมีบัญชีการเงินที่ได้ดุล (surplus) เราถึงจะอยู่ได้ แต่เจ้าบัญชีการเงินเนี่ยมันไม่ยั่งยืน วัน(ไม่)ดีคืน(ไม่)ดี มันอาจจะหยุดไหลเข้าเอาดื้อๆ แล้วเราอาจจะมีปัญหาดุลการชำระเงินได้ คือมีเงินตราต่างประเทศที่เราไม่พอกับเงินตราต่างประเทศที่เราต้องจ่ายออก (จำเมืองไทยปี 2540 ได้ไหมครับ)

หลายคนอาจจะเถียงว่า เมืองไทยสมัยก่อนวิกฤตน่ะ มีหนี้ระยะสั้นเข้ามาเยอะ เลยทำให้บัญชีการเงินได้ดุล พอเกิดวิกฤต เจ้าหนี้อยากได้เงินคืน ก็เลยมีปัญหา แต่ประเทศนี้น่ะ เงินไหลเข้าเป็น FDI ทั้งน้าน โนพลอมแพลม...

เอ้า อันนี้ก็เถียงกันได้ครับ

อ่ะ เอาเป็นว่า ผมสมมุติให้ว่า ความเสี่ยงต่อวิกฤตมันสูงขึ้นก็แล้วกัน

กลับมาที่ปัญหาข้อสอง ที่ผมอยากถามละกัน (เฮ้อ กว่าจะมาได้...)

ในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคเนี่ย รัฐมีเครื่องมือใหญ่ๆสองอัน คือ ไม่นโยบายการคลัง ก็นโยบายการเงิน แต่ในเหตุการณ์สมมุตินี้ รัฐเหมือนโดนมัดมือไว้ข้างหนึ่ง ไม่สามารถใช้นโยบายการเงินได้ เพราะมันไม่ได้ผล งานจึงตกอยู่กับนโยบายการคลัง

ถ้ารัฐอยากลดแรงกดดันที่มีต่อดุลบัญชีเดินสะพัดเนี่ย ตำราเศรษฐศาสตร์มหภาคเล่มไหนๆบอกไว้ว่า ต้องรัฐรัดเข็มขัดอุปสงค์ภายในประเทศ หรือในแง่ของนโยบายการคลังก็คือ ตัดรายจ่าย หรือไม่ก็ขึ้นภาษี (เพราะ X-M=Y-C-G-I) (เพราะรัฐไม่สามารถเข้าไปทำอะไรกับความสามารถทางการแข่งขันได้ ในระยะสั้น)

ทีนี้รัฐก็อยู่ในสภาวะได้อย่างเสียอย่าง คือถ้าไม่ทำอะไร ประเทศก็เติบโตไปเรื่อย แต่ความเสี่ยงที่เกิดวิกฤตก็สูงขึ้น (อย่างที่บอกครับ สมมุติว่ามันสูงขึ้นละกัน) แต่ถ้าทำอย่างตำราเศรษฐศาสตร์ว่าไว้ ก็คือตัดรายจ่าย หรือขึ้นภาษี ก็อาจจะลดความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตได้ แต่ก็ต้องแลกกับอัตราการเจริญเติบโตที่ลดลง หรือต้องไปอธิบายกับประชาชนว่าทำไมถึงจะต้องตัดงบสร้างถนน หรือลดจำนวนข้าราชการด้วย (ซึ่งประชาชนอาจจะฟังไม่เข้าใจ และทำให้ท่านแพ้เลือกตั้งคราวหน้าได้)

คำถามคือว่าถ้าท่านเป็นรัฐบาล ท่านจะทำยังไง จะเลือกทางเลือกแบบไหน (หรือถ้ามีทางเลือกทางอื่นก็บอกมาได้นะครับ) และเพราะอะไร

แน๊ เริ่มเหมือนข้อสอบจริงขึ้นทุกที

เอ้า เริ่มทำข้อสอบได้ครับ....

7 Comments:

At 9:30 AM, Blogger Bikku said...

Ah...this question makes me think for a long time krab. Headache jing jing :P

My answer for this one...the govt should consider non-economic policies krab.

I think, if considering only economic policies, the one with slowing-things-down is better than the one with just-let-things-go (or grow) krab. But I also believe that no govt in the world would want to do such a thing, especially in a democratic country. So...it's like there's no choice but to let the economy (which is seemingly wonderful) as well as the risk go on its way.

The best thing we can do is to make the people realize on what basis their economy grows. Foreign fund (inflow) is good for the economy, but the country should gradually reduce its reliance on foriegn capital inflow...and let growth comes more on within (i.e. more productivity, perhaps higher saving).

Although a little naive, I still believe that, as a country develop more, its economic growth rate should matter less (not that it doesn't matter na krab)...and things like risk exposure and income distribution should matter more. But that's just my view ;)

 
At 10:24 AM, Blogger kickoman said...

จริงๆแล้วคำถามข้อสองนี้ไม่ได้ตั้งใจถามนักเศรษฐศาสตร์นะครับ เพราะผมว่าไม่มีคำตอบที่ถูกต้องมั้งครับ และมันก็ไม่ค่อยเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์เท่าไร มันเกี่ยวกับศาสตร์อย่างอื่นด้วย เพราะงั้น นักฯ อื่นๆไม่ต้องชะล่าใจ เข้ามาร่วมแจมกันได้ครับ

ลองคิดดูว่า ถ้าท่านเป็นผู้กำหนดนโยบาย หรือเป็น ส.ส. อยู่ในสภา หรือเป็นประชาชนผู้อ่านข่าว แล้วได้รับข้อมูลแบบนี้มา ท่านจะมีความเห็นอย่างไร และชอบทางเลือกแบบไหน

 
At 2:15 AM, Blogger Tanusz said...

ขออนุญาตร่วมสนุกด้วยนะครับ
ออกตัวก่อนว่าผมไม่มีความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์เลย
การเสนอทางเลือกอื่นจึงตัดทิ้งไปได้
ดังนั้นสำหรับคำถาม ผมขมวดปมให้มาเหลือแค่ว่า
จะเลือกทางเดินไหนระหว่าง
1.นิ่งเฉย ดำเนินนโยบายตามเดิม รอให้เกิดวิกฤตก่อน แล้วค่อยแก้ปัญหา
2. ตัดรายจ่าย หรือขึ้นภาษี แต่อาจทำให้ผมแพ้เลือกตั้งคราวหน้าได้

ผมตอบคำถามโดยสวมวิญญาณนักการเมืองขนานแท้และดั้งเดิม ซึ่งกรุณาเชื่อโดยสนิทใจเถิดว่า แท้ๆแล้วผมไม่ได้มีเจตนาดังที่เขียนไว้จริงๆ

***คำเตือน ระหว่างอ่านกรุณาอุดจมูก ป้องกันมลพิษทางกลิ่นที่อาจโชยออกมาได้***

ผมขอแยกออกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาล กับฝ่ายค้าน

ถ้าผมเป็นฝ่ายรัฐบาล

ถ้าผมเลือกตัดรายจ่ายหรือขึ้นภาษี ผมอาจจะได้รับเสียงปรบมือจากนักวิชาการบนหอคอยงาช้างบางคน แต่ผมจะต้องได้รับเสียงบริภาษจากบรรดานักธุรกิจโทษฐานทำให้เสียบรรยากาศการลงทุน จากประชาชนโทษฐานไม่ใส่ใจความทุกข์ยากของของพวกเค้า และจากมนุษย์เงินเดือนโทษฐานทำให้ต้องมีรายจ่ายเพิ่ม

จากนั้นฝ่ายค้านจะอาศัยช่องว่างดังกล่าวมาโจมตีผมเป็นแน่แท้ ซึ่งหากผมให้เหตุผลตามหลักการไป ประชาชนจะฟังเข้าใจหรือไม่ อย่างไร ใครจะสนล่ะครับ ก็ในเมื่อตอนนี้เค้าอยู่ดีมีเงินใช้ อยู่ๆไปแปลงเปลี่ยนเค้า และประชาชนคงจะเห็นด้วยตามฝ่ายค้านอย่างแน่นอน ผลก็คือผมจะสอบตกในการเลือกตั้งสมัยหน้า

และถ้าผมเลือกตัดรายจ่ายหรือขึ้นภาษีขึ้นมาจริงๆ แล้วทำให้ผมสามารถป้องกันการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้ แต่ผมต้องแพ้การเลือกตั้ง ต้องไปเป็นฝ่ายค้านซะนี่ ทั้งที่เป็นผลงานของผม ให้ฝ่ายค้านเดิมที่ชนะผมในการเลือกตั้งนำไปกล่าวอ้างเป็นผลงานของตน แล้วเรื่องอะไรที่ผมต้องไปทำผลงานให้คนอื่นด้วยหละ

ส่วนวิกฤตเศรษฐกิจก็เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น มันจะเกิดก็ได้ ไม่เกิดก็ได้ แต่ถ้ามันเกิดขึ้นมาจริงๆก็หาแพะมาซักตัว แล้วเชือดให้ลิงดู ก็ไม่สาย (ของถนัด)

ดังนั้นยังไงๆ ผมก็ต้องทำคะแนนไว้ก่อน โลงศพยังไม่เห็น จะหลั่งน้ำตาไปไย?

ถ้าผมเป็นฝ่ายค้าน

ผมไม่มีอำนาจกำหนดนโยบายทำได้แต่แสดงความเห็น ตามครรลองประชาธิปไตย ผมจะเสนอให้รัฐบาลตัดรายจ่าย ขึ้นภาษี แต่หาใช่ด้วยเหตุผลของการห่วงใยปัญหาทางเศรษฐกิจไม่ หากแต่เพราะ

ถ้ารัฐบาลนิ่งเฉย ดำเนินนโยบายตามเดิม ยังไงๆผมก็แพ้เลือกตั้งอยู่แล้ว แต่ถ้าเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นมาจริงๆ ผมสามารถกล่าวอ้างได้ว่า ผมเตือนรัฐบาลแล้ว แต่รัฐบาลไม่ฟัง อาจทำให้ผมพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นฝ่ายชนะเลือกตั้งก็ได้

แต่ถ้ารัฐบาลบ้าจี้ ตามผม ตัดรายจ่าย หรือขึ้นภาษีมาจริงๆ ผมก็แต่งตัวรอเป็นนายกฯสมัยหน้าได้เลย เพราะประชาชนไม่เลือกรัฐบาลแน่

แต่ถ้าผมเลือกเชียร์ให้รัฐบาลเพิกเฉยต่อปัญหาดังกล่าว แล้วเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นจริงๆ รัฐบาลจะโทษผมทันที และผมจะกลายเป็นแพะของรัฐบาลอย่างไม่ต้องสงสัย

ดังนั้นถ้าผมเป็นฝ่ายค้านจะเลือกตัดรายจ่าย ขึ้นภาษี อย่างมิพักต้องคิดนาน

กรับท่าน

 
At 11:35 AM, Blogger kickoman said...

อืม..เริ่มสนุกแล้วครับ ถ้าทิ้งเรื่องทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ไป ผมว่ามันมีเรื่องของ political economy เข้ามาเกี่ยวเยอะพอควร

คำตอบคุณ Tanusz บอกว่ามีเรื่องของระยะเวลา และการทำคะแนนเข้ามาเกี่ยวข้อง

คุณ Tanusz ครับ แล้วงี้ ถ้าเป็นฝ่ายค้าน แล้วไปสนับสนุนให้รัฐบาลตัดรายจ่าย จนรัฐบาลแพ้เลือกตั้ง งี้รัฐบาลก็ลากพรรคฝ่ายค้านลงเหวไปด้วยดิครับ ในฐานะที่เป็นพวกสนับสนุกด้วยกัน เผลอๆอาจมีพรรคตาอยู่มาคว้าพุงเพียวๆไปกินได้ดิครับ

งี้ต้องผมว่าต้องยุในลับ แต่วางเฉยในที่แจ้ง เผื่อฟลุครัฐบาลดันเชื่อจะได้ไม่ต้องลงเหวไปด้วยกัน

ผมเห็นด้วยกับ คุณ StrawHat และคุณ corgiman ที่บอกว่ารัฐไม่ควรเข้าไปบิดเบือนตลาดครับ แต่ผมเดาเอาจากคำตอบว่า คุณ StrawHat บอกว่าในกรณีนี้ไม่ควรทำอะไร เพราะรัฐไม่ควรมีบทบาทในการรักษาเสถียรภาพ งั้นผมขออนุญาตขอความเห็นต่อหน่อยนึงว่า ในแง่ macro รัฐนี้จะทำอย่างไรกับ fiscal policy stance ดีละครับ?

สมมุติว่า รัฐบาลประเทศนี้ เป็นรัฐบาลที่ดี ไม่เข้าไปบิดเบือนตลาด ตั้งหน้าตั้งตาทำแต่สิ่งที่รัฐควรจะทำ(เช่น จัดการ market failure สร้าง infrastructure ฯลฯ) รัฐก็มีทางเลือกว่าจะทำปีนี้ หรือทำปีต่อๆไป ทำปีนี้หมดเลยไม่ได้แน่ๆ เพราะมีข้อจำกัดคือรายได้ของรัฐ และภาระผูกพันที่รัฐต้องจ่าย แต่พอสุดท้ายแล้วรัฐบาลประเทศนี้ก็ต้อง ยื่นงบประมาณเข้าสภาและต้องตัดสินใจว่ารายจ่ายปีนี้จะเป็นเท่าไร เมื่อเทียบกับรายได้

คำถามคือว่าจะเลือกงบประมาณปีนี้ แบบขาดดุล สมดุล หรือเกินดุลเท่าไรดี

ผมเดาว่า ถ้ารัฐนี้ไม่เอาบทบาทการรักษาเสถียรภาพมาเกี่ยวข้องเลย รัฐนี้คงเลือกใช้เงิน โดยพิจารณาจากผลตอบแทนและต้นทุน (ทางสังคม) และ budget constraint เท่านั้น (เช่น ถ้าปีนี้ผลตอบแทนทางสังคมสูงกว่าต้นทุนเยอะๆ และเรามีปัญญาจ่ายคืนหนี้หมดแน่ๆ ก็ควรใช้ปีนี้)

แต่ถ้ารู้ว่าปีนี้เศรษฐกิจกำลังร้อนแรง รัฐควรจะฉีดเงินเข้าไปอีกหรือเปล่าครับ?

 
At 12:19 PM, Blogger Tanusz said...

เออ!!จริงด้วยครับ

แหมคุณ kickoman

รอบคอบกว่าผมซะอีก

ใช้บรรดานายหน้าสาวกฝ่ายค้านออกหน้า

แล้วตัวเองนั่งบนภูดูเสือกัดกัน

อย่างนี้ คุณ kickoman

สนใจเป็นนักการเมืองหรือปล่าวครับ

555 ล้อเล่นนะครับ

ส่วนคำถามต่อมาจนด้วยปัญญา

ขอปวารณาเป็นผู้ชมที่ดีกรับผม

 
At 4:50 AM, Blogger natsima said...

ทวนคำถามก่อนละกันนะครับ
A. จะเลือกทางเดินไหนระหว่าง..
1)นิ่งเฉย ดำเนินนโยบายตามเดิม รอให้เกิดวิกฤตก่อน แล้วค่อยแก้ปัญหา
2)ตัดรายจ่าย หรือขึ้นภาษี แต่อาจทำให้ผมแพ้เลือกตั้งคราวหน้าได้
B.จะเลือกงบประมาณปีนี้ แบบขาดดุล สมดุล หรือเกินดุลเท่าไรดี และ ถ้ารู้ว่าปีนี้เศรษฐกิจกำลังร้อนแรง รัฐควรจะฉีดเงินเข้าไปอีกหรือเปล่าครับ?

จากสถานการณ์ที่คุณครูให้มา จะพบว่า "วิกฤติ" เกิดขึ้นแน่นอนในอนาคตอันใกล้ ทีนี้สมมติว่าผมเป็นนักการเมือง"ที่ดี" นะครับ คือหวังทั้งคะแนนเสียงและหวังที่จะให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้าด้วย ผมจะดำเนินการดังนี้ครับ
1. สร้างกระแสให้เกิด "วิกฤติเทียม" ขึ้นมา การสร้างกระแสสามารถทำได้โดยใช้หลัก Emotional Marketing ครับ กล่าวคือในฐานะพรรคการเมืองผมจำเป็นต้องมีกลุ่มทุนที่เป็นผู้สนับสนุนอยู่จำนวนไม่น้อย กลุ่มทุนเหล่านี้สามารถเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างวิกฤติเทียมได้ คำว่าวิกฤติเทียมคือจริงๆ ไม่ได้ร้ายแรงขนาดวิกฤติแต่ทำเป็นเหมือนวิกฤติ (ประมาณเดียวกับเราเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดาแต่ไปนอนโรงพยาบาลอ้อนแฟนซะงั้น)
2. วิกฤติเทียมจะเป็นวิกฤติที่ทำให้ประชาชนเกิดการ"ประหยัด" และเกิดทัศนคติในการประหยัดขึ้นมาโดยปริยาย
3. จากนั้นผมก็จะลดเป้าประมาณทางเศรษฐกิจลง และสามารถตัดรายจ่ายภาครัฐที่ไม่จำเป็นออกได้โดยที่ไม่ถูกด่า เพราะคนทั้งประเทศอยู่ในกระแส"ประหยัด" นอกจากนี้รัฐบาลที่ประหยัดก็จะได้รับคะแนนนิยมมากขึ้นอีกด้วย
4. ดังนั้น แน่นอนว่าผมคงไม่อัดเงินเข้าไปในระบบครับ งบประมาณปีนี้จึงเป็นแบบที่มีรายได้พอๆ กับรายจ่าย หรือแบบสมดุล คือไม่เก็บภาษีเพิ่มและลดการใช้จ่ายของภาครัฐนั่นเอง

เชิญวิจารณ์ตามสะดวกใจครับ

 
At 11:22 AM, Blogger kickoman said...

วิกฤตจะมาหรือเปล่าไม่รู้นะครับ แต่สมมุติให้ความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตมันสูงขึ้นครับ

เรื่องวิกฤตเทียมนี่ผมไม่แน่ใจว่ารัฐจะทำได้นะครับ เพราะรัฐไม่มีทางควบคุมทุกอย่างในประเทศได้ ยังไงประชาชนก็เป็นเจ้าของกระเป๋าตังค์อยู่ รัฐคงไปหลอกไม่ได้มั้งครับว่าให้ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดีแล้ว ถ้าคนยังมีเงินใช้จ่ายอย่างสบายๆ ถึงถ้าทำได้จะรู้ได้ไงว่าวิกฤตปลอมๆจะไม่กลายเป็นวิกฤตจริงๆไปละครับ มันเสี่ยงอยู่นา...

แต่ถ้ารณรงค์ให้คนประหยัด โดยชี้ให้เห็นถึงผลเสียของการใช้จ่ายเกินความสามารถในการผลิตของประเทศนี่ผมเห็นด้วยนะครับ แต่ได้ผลหรือเปล่าก็ไม่รู้ครับ

 

Post a Comment

<< Home