Sunday, October 30, 2005

daylight saving

วันนี้คนที่อยู่ในหลายๆประเทศคงตื่นมาแบบสบายใจ เพราะได้นอนต่ออีกชั่วโมงนึง (ถ้าไม่ลืมว่าต้องปรับนาฬิกาแล้วนะครับ) เพราะวันนี้เป็นวันที่ปรับ daylight saving time กลับไปเป็นเวลาปกติ อย่าลืมนะครับว่า เมื่อคืนนี้เวลาเดินจาก ตึหนึ่งห้าสิบเก้านาที กลับไปตีหนึ่งอีกรอบนึง เพราะงั้นตื่นมาแล้วต้องปรับนาฬิกาย้อนกลับไปหนึ่งชั่วโมงครับ

คนที่อยู่เมืองไทยไม่ต้องปรับไปกะเขานะครับ เดี๋ยวเกิดผิดนัดสาวๆ แล้วจะมาบอกว่าปรับเวลาตาม daylight saving นี่จะซวยเอานะครับ

ก่อนที่ผมจะมาถามคำถามข้อสอบกลางภาคข้อสอง (เพราะเขียนไม่ทัน) ขออนุญาตเล่าเรื่อง daylight saving นี่ก่อนแล้วกันครับ เดี๋ยวจะตก trend ไปเสียเปล่า

หลายๆคนคงจะเคยสงสัยเหมือนผมตอนมาต่างประเทศใหม่ๆว่า ไอ้ daylight saving ทำไมเขาถึงต้องเปลี่ยนนาฬิกาให้ยุ่งยากด้วย แล้วนอกจากประเทศที่เราอยู่เนี่ย ประเทศอื่นเขาปรับนาฬิกากันหรือเปล่า

เจ้า daylight saving เนี่ย ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วครับ ว่าปรับเพื่อ "ประหยัด" แสงอาทิตย์ เพราะอะไรเหรอครับ ก็เพราะว่าโลกเอียงครับ ขณะที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ประเทศที่อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรมาก (ทั้งซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้) จะมีเวลากลางคืนกับกลางวันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในฤดูร้อนจะมีเวลากลางวันยาวกว่ากลางคืน และกลางคืนยาวกว่ากลางวันในฤดูหนาว ประเทศที่อยู่เหนือหรือใต้มากๆ อาจจะเห็นพระอาทิตย์เกือบทั้งวันทั้งคืนในฤดูร้อน และอาจจะแทบไม่เห็นพระอาทิตย์เลยในฤดูหนาว

ทีนี้แทนที่จะ "เสีย" แสงอาทิตย์ไปเปล่าๆในช่วงเช้าที่คนเรายังนอนอยู่บนเตียง เขาก็แนะนำกันว่าปรับเอาแสงอาทิตย์ให้มันส่องนานขึ้นในตอนเย็นดีกว่า คนเราจะได้ไม่ต้องรีบเปิดไฟตอนกลับถึงบ้าน (มันยังสว่างอยู่ ไม่ต้องรีบกลับบ้านก็ได้)

เช่นว่าในอเมริกา ถ้าไม่ปรับ daylight saving เนี่ย ในฤดูร้อนพระอาทิตย์อาจจะส่องจากตีห้า ถึงสองทุ่ม เขาก็เลยปรับ daylight saving ไปสักชั่วโมง ให้มันสว่างจากหกโมงเช้า ถึงสามทุ่มแทน

มีการศึกษาแล้วพบว่า daylight saving เนี่ยช่วยประหยัดพลังงานได้จริงๆ อย่างน้อยก็สักหนึ่งเปอร์เซนต์ ต่อวัน ซึ่งถ้านับเป็นพลังงานที่ประหยัดได้ก็นับว่ามากโขอยู่ นอกจากนั้นแล้วยังพบอีกว่าการปรับเวลายังช่วยลดอุบัติเหตุ และอาชญกรรมอีกด้วย เพราะมีแสงอาทิตย์ในเวลาที่คนอยู่นอกบ้านเยอะขึ้น (อ่านเกี่ยวกับ day light saving และประโยชน์ของมันได้ที่นี่ครับ
http://www.energy.ca.gov/daylightsaving.html)

ทีนี้คงมีคนถามว่า แล้วทำไมต้องปรับกลับด้วยละ ถ้ามันประหยัดพลังงานก็ปล่อยให้พระอาทิตย์ตกตอนดึกๆทั้งปีเลยสิ ก็เพราะว่าพอฤดูหนาวมาเนี่ย ถ้าเราไม่ปรับกลับ กว่าพระอาทิตย์จะขึ้นก็คงเจ็ดแปดโมงเช้าแน่ๆ พลังงานที่ประหยัดได้ตอนกลางคืนเลยโดน offset จากพลังงานที่ใช้มากขึ้นในตอนเช้า (แล้วลองนึกดูว่าถ้าเจ็ดโมงเช้ายังไม่สว่าง นี่คนคงไปทำงานสายกันหมด)

เลยมีคนพูดให้จำกันง่ายๆว่า ฤดูไหนจะปรับเวลาไปข้างหน้าหรือย้อนไปข้างหลังว่า "spring forward, fall back" ก็คือว่า ถ้าเป็นฤดูใบไม้ผลิ เราจะปรับเวลาไปข้างหน้า (spring แปลว่ากระโดด ก็ต้องกระโดดไปข้างหน้า) ส่วนถ้าเป็นฤดูใบไม้ร่วง อย่างเช่นวันนี้ เราก็ต้องปรับเวลาย้อนไป (fall แปลว่าล้ม ก็ต้องล้มไปข้างหลัง)

ถ้ายังนึกภาพไม่ออก ลองดูจากภาพข้างล่างนี้ครับ (ที่มา http://webexhibits.org/daylightsaving/c.html) ลองเอาเมาส์ไปวางบนแผนที่แล้วลองดูเวลากลางคืนกลางวันที่เปลี่ยนไปในแต่ละเดือนสิครับ









แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกประเทศจะมี daylight saving time กันหมดนะครับ (เห็นชัดๆอย่างเมืองไทยไม่เห็นต้องปรับ) ลองดูแผนที่ข้างล่างนี้ครับ ประเทศสีเหลืองคือประเทศที่ปรับ daylight saving time และประเทศสีเทาไม่ได้ปรับครับ และที่น่าสนใจคือประเทศซึกโลกเหนือกับประเทศซึกโลกใต้ จะปรับเวลากลับกัน เพราะงั้นประเทศอย่างชิลี อาจจะมีเวลาตรงกลับเวลา eastern ของอเมริกาในบางช่วงของปี และห่างกันสองชั่วโมงในอีกช่วงของปี


แต่ละประเทศก็กำหนดวันที่ปรับเวลาต่างกันไป ในปัจจุบัน อเมริกาก็จะปรับกันวันอาทิตย์แรกของเดือนเมษายน และปรับกลับอีกทีวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนตุลาคม (ก็คือวันนี้นั่นเอง) ส่วนประเทศส่วนใหญ่ทางยุโรป จะปรับเวลาเข้าสู่ daylight saving time ก่อนหน้านั้นอาทิตย์นึง (วันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนมีนาคม) และก็ปรับเข้าเวลาปกติพร้อมกัน แต่กฎหมายพลังงานที่เพิ่งผ่านสภาของสหรัฐอเมริกาไปกำหนดให้ยืดเวลา daylight saving ไปอีกเดือนนึงครับ เริ่มตั้งแต่ปี 2007 daylight saving จะเริ่มปรับกันตั้งแต่อาทิตย์ที่สองขึ้นเดือนมีนาคม จนถึงอาทิตย์แรกของเดือนพฤศจิกายน เข้าใจว่าเพื่อยืดเวลาให้ประหยัดกันอีกหน่อย ลองกด link (ยังไม่กล้าสะกดเป็นภาษาไทยกลัวผิด อิอิ) บนแผนที่ข้างบน ดูว่าแต่ละประเทศเปลี่ยนเข้าสู่ daylight saving time กันวันไหนนะครับ

อ่ะทีนี้ พอเข้าใจแล้วว่า daylight saving คืออะไร มีประโยชน์อย่างไรแล้ว สงสัยกันไปต่อหรือเปล่าครับ ว่าใครนะช่างคิด เขาว่ากันว่า ความคิดนี้ย้อนไปถึง Benjamin Flanklin นักคิดและนักการเมืองชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขียนไว้ตั้งแต่ปี 1784 ในบทความชื่อ "An Economical Project" สมัยเป็นทูตอยู่ที่ฝรั่งเศส (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ประวัติ day light saving ได้ที่นี่ครับ http://webexhibits.org/daylightsaving/index.html)

ซึ่งความคิดนี้ก็ได้รับการพัฒนา ดัดแปลง แก้ไข เรื่อยมาจนปัจจุบัน (และก็ยังเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ) เจ้า daylight saving นี้ยังใช้เป็นเครื่องมือในการประหยัดพลังงานแบบสุดโต่ง ช่วงสงครามโลก และเชื่อไหมละครับว่าเมื่อปี 2001 ตอนที่ รัฐ California เกิดวิกฤตการณ์พลังงานครั้งใหญ่ ยังมีการเสนอให้ใช้ daylight saving กันทั้งปีเพื่อประหยัดพลังงานเลย แต่เกิดเหตุการณ์ 9/11 ซะก่อน กฎหมายนี้เลยไม่ได้ผ่าน congress และก็ไม่ได้มีการเสนอกลับเข้ามาใหม่ เพราะวิกฤตการณ์พลังงานคลี่คลายไปพอดี

เหนื่อยพอดี...อ่านจบแล้วอย่าลืมปรับเวลาด้วยนะครับ ผมยังไม่ได้ปรับเลย...


ใครสนใจ แนะนำให้ไปอ่านหนังสือเล่มนี้ครับ "Seize the Daylight: The Curious and Contentious Story of Daylight Saving Time" ผมยังไม่ได้อ่านหรอกครับ แต่ท่าทางน่าสนุกดี มี quote ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่น่าสนใจเช่น






"An extra yawn one morning in the springtime, an extra snooze one night in the autumn is all that we ask in return for dazzling gifts. We borrow an hour one night in April; we pay it back with golden interest five months later."
—Winston Churchill

"Daylight time, a monstrosity in timekeeping."
—Harry Truman

"It seems very strange . . . that in the course of the world's history so obvious an improvement should never have been adopted. . . . The next generation of Britishers would be the better for having had this extra hour of daylight in their childhood."
—Sir Arthur Conan Doyle

1 Comments:

At 9:54 PM, Anonymous แปลภาษาฝรั่งเศส said...

เป็นความรู้ใหม่ที่ดีมากเลย ขอบคุณค่ะ

 

Post a Comment

<< Home