หลังจากถามข้อแรกทิ้งไว้นาน ได้เวลากลับมาตอบคำถามข้อแรก และถามคำถามข้อสองแล้วครับ
ก่อนอ่านข้อสอง ถ้าใครยังไม่ได้อ่านคำถามข้อแรกและคำตอบที่มีผู้ร่วมสนุกมากมายเชิญไปอ่าน
ที่นี่ก่อนนะครับ ท่าน
corgiman ที่พักหลังเริ่มห่างหายจากวงการ ให้ความกรุณาแปะคำตอบไว้บนบลอกของท่านด้วย
จริงๆแล้ว ผมว่าคำถามข้อแรกของผมมันชี้นำไปหน่อย จริงๆน่าจะถามเพิ่มว่า ในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมนโยบาย
ท่านควรจะทำอะไรหรือไม่ นอกเหนือจากคำถามว่า
จะทำอย่างไร ผมว่าน่าสนใจเหมือนกันว่า อะไรคือบทบาทของ "รัฐ" ในการจัดการกับปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
คุณ corgiman จากสำนัก midway ให้ความเห็นว่า รัฐไม่ควรทำอะไรปล่อยให้กลไกตลาดมันจัดการตัวมันเอง คุณ biggie บอกว่าตัดค่าใช้จ่ายภาครัฐ และค่อยๆทยอยปล่อยค่าเงินให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น (แต่บอกแล้วนะครับ ว่าเจ้าของประเทศไม่อยากปรับค่าเงิน)
ในกรณีสมมุตินี้ เครื่องชี้นำว่าประเทศนี้
อาจจะมีปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ คือตัวเลขการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงขึ้น
สำหรับคนที่ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์โดยกำเนิด อาจสงสัยว่าบัญชีเดินสะพัดนี่ มันเดินไปไหน แล้วสะพัดยังไง ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า current account ครับ มันคือบัญชีบันทึกการไหลเข้าออกของทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับ real transactions (ตรงข้ามกับ financial transactions) ซึ่งรวมไปถึงการนำเข้า ส่งออก สินค้าและบริการ และค่าตอบแทนปัจจัยการผลิต (เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล ฯลฯ)
บัญชีเดินสะพัดเป็นส่วนหนึ่งของดุลการชำระเงิน (balance of payment) ซึ่งบันทึกเงินที่ไหลเข้าออกประเทศ อีกส่วนหนึ่งใหญ่ๆของดุลชำระเงินคือ บัญชีการเงิน (financial account) ถ้าใครเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์สมัยก่อน เขาเรียกบัญชีทุน หรือ capital account ครับ ซึ่งบันทึกเงินไหลเข้าออกที่เกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นและลดลงของทรัพย์สินและหนี้สิน เช่น การชำระค่าสินค้าและบริการ เงินกู้ที่ต่างประเทศ เงินทุนที่เข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือเงินทุนต่างชาติที่เอาเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศ
หรือพูดแบบง่ายๆ (โดยไม่พิจารณาเงินทุนสำรอง) ได้ว่า ดุลบัญชีเดินสะพัด + ดุลบัญชีการเงิน = ดุลการชำระเงิน นั่นเอง
ผมว่าผมอาจจะต้องถอยกลับมาก้าวหนึ่งก่อน แล้วถามใหม่ว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลสูงขึ้นน่ะ เป็นสัญญาณบอกว่าประเทศนี้มีปัญหาเสถียรภาพหรือเปล่า
เอ...แต่ทำไมใครต่อใครต้องไปสนใจเรื่องปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัดด้วยละ ถ้าเราเกินดุลการชำระเงิน แปลว่าเราได้เงินตราต่างประเทศมากกว่าที่เราจ่ายออกไป และเราสะสมทุนสำรองเพิ่มขึ้นทุกปี ก็น่าจะสบายใจได้แล้วนี่หน่า
แต่ผู้รู้หลายๆท่านบอกว่า ถ้าบัญชีเดินสะพัดขาดดุล แปลว่าเราต้องมีบัญชีการเงินที่ได้ดุล (surplus) เราถึงจะอยู่ได้ แต่เจ้าบัญชีการเงินเนี่ยมันไม่ยั่งยืน วัน(ไม่)ดีคืน(ไม่)ดี มันอาจจะหยุดไหลเข้าเอาดื้อๆ แล้วเราอาจจะมีปัญหาดุลการชำระเงินได้ คือมีเงินตราต่างประเทศที่เราไม่พอกับเงินตราต่างประเทศที่เราต้องจ่ายออก (จำเมืองไทยปี 2540 ได้ไหมครับ)
หลายคนอาจจะเถียงว่า เมืองไทยสมัยก่อนวิกฤตน่ะ มีหนี้ระยะสั้นเข้ามาเยอะ เลยทำให้บัญชีการเงินได้ดุล พอเกิดวิกฤต เจ้าหนี้อยากได้เงินคืน ก็เลยมีปัญหา แต่ประเทศนี้น่ะ เงินไหลเข้าเป็น FDI ทั้งน้าน โนพลอมแพลม...
เอ้า อันนี้ก็เถียงกันได้ครับ
อ่ะ เอาเป็นว่า ผมสมมุติให้ว่า ความเสี่ยงต่อวิกฤตมันสูงขึ้นก็แล้วกัน
กลับมาที่ปัญหาข้อสอง ที่ผมอยากถามละกัน (เฮ้อ กว่าจะมาได้...)ในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคเนี่ย รัฐมีเครื่องมือใหญ่ๆสองอัน คือ ไม่นโยบายการคลัง ก็นโยบายการเงิน แต่ในเหตุการณ์สมมุตินี้ รัฐเหมือนโดนมัดมือไว้ข้างหนึ่ง ไม่สามารถใช้นโยบายการเงินได้ เพราะมันไม่ได้ผล งานจึงตกอยู่กับนโยบายการคลัง
ถ้ารัฐอยากลดแรงกดดันที่มีต่อดุลบัญชีเดินสะพัดเนี่ย ตำราเศรษฐศาสตร์มหภาคเล่มไหนๆบอกไว้ว่า ต้องรัฐรัดเข็มขัดอุปสงค์ภายในประเทศ หรือในแง่ของนโยบายการคลังก็คือ ตัดรายจ่าย หรือไม่ก็ขึ้นภาษี (เพราะ X-M=Y-C-G-I) (เพราะรัฐไม่สามารถเข้าไปทำอะไรกับความสามารถทางการแข่งขันได้ ในระยะสั้น)
ทีนี้รัฐก็อยู่ในสภาวะได้อย่างเสียอย่าง คือถ้าไม่ทำอะไร ประเทศก็เติบโตไปเรื่อย แต่ความเสี่ยงที่เกิดวิกฤตก็สูงขึ้น (อย่างที่บอกครับ สมมุติว่ามันสูงขึ้นละกัน) แต่ถ้าทำอย่างตำราเศรษฐศาสตร์ว่าไว้ ก็คือตัดรายจ่าย หรือขึ้นภาษี ก็
อาจจะลดความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตได้ แต่ก็ต้องแลกกับอัตราการเจริญเติบโตที่ลดลง หรือต้องไปอธิบายกับประชาชนว่าทำไมถึงจะต้องตัดงบสร้างถนน หรือลดจำนวนข้าราชการด้วย (ซึ่งประชาชนอาจจะฟังไม่เข้าใจ และทำให้ท่านแพ้เลือกตั้งคราวหน้าได้)
คำถามคือว่าถ้าท่านเป็นรัฐบาล ท่านจะทำยังไง จะเลือกทางเลือกแบบไหน (หรือถ้ามีทางเลือกทางอื่นก็บอกมาได้นะครับ) และเพราะอะไร
แน๊ เริ่มเหมือนข้อสอบจริงขึ้นทุกที
เอ้า เริ่มทำข้อสอบได้ครับ....