Wednesday, July 13, 2005

ฟองสบู่ (ตอนที่ 3: Tulipmania)

หายหน้าหายตาไปหลายวันเพราะงานยุ่งสุดๆไปเลยครับ คิดดูว่ายุ่งมาก จนแทบไม่มีเวลาอู้งานทำ sudoku เลยครับ วันนี้เริ่มหายยุ่งแล้วเลยขอคืนสังเวียนสักหน่อยครับ

ขอย้อนกลับมาเรื่องฟองสบู่อีกรอบครับ ตอนนี้อยากมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับประวัติของฟองสบู่ครับ

ภาวะฟองสบู่ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งมาเกิดนะครับ ว่ากันว่ามีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว

ฟองสบู่สมัยโบราณที่ขึ้นชื่อว่าคลาสสิคที่สุด บ้าระห่ำที่สุด และมีคนพูดถึงมากที่สุด คือ ฟองสบู่ที่เกิดขึ้นกับ ทิวลิป เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่สิบเจ็ด เคยได้ยินเรื่องเกี่ยวกับ tulipmania หรือ tulipomania กันบ้างหรือยังครับ ถ้าไม่เคย ก็ล้อมวงเข้ามาครับ เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟัง

ถ้าพูดถึงทิวลิป หลายๆคนคงคิดถึงฮอลแลนด์หรือเนเธอร์แลนด์ หรือดินแดนกางหันสีส้มของแวนบาสเท่นนั่นแหละครับ แต่จริงๆแล้วเนี่ยดอกทิวลิปมีต้นกำเนิดมาจากฝั่งทวีปเอเชียของเรานี่เองครับ แถวๆประเทศตุรกี อิหร่าน ว่ากันว่าครั้งแรกที่ทิวลิปหลุดเข้าไปในทวีปยุโรป คือในช่วงกลางคริสตศตวรรษที่ 16 พ่อค้าชาวตุรกีส่งหัวทิวลิปไปให้พ่อค้าชาวฮอลแลนด์เป็นของกำนัล (ไม่ใช่ของผู้ใหญ่บ้านนะครับ เป็นของกำนัล) พ่อค้าชาวฮอลแลนด์ก็ไม่รู้ว่าไอ้หน่อเนี่ยมันคืออะไร นึกว่าเป็นหอมหัวใหญ่ เลยเอามาผัดกินซะนี่ เหลือก็เอาไปปลูกไว้ในแปลงผัก กะเก็บไว้กินปีหน้า พอดอกออกนี่สิครับ ตื่นเต้นกันใหญ่ว่าดอกอะไรมันช่างสวยงามซะขนาดนี้ แล้วหลังจากนั้น ทิวลิปก็กระจายไปทั่วยุโรป

ก่อนจะพูดถึงตลาดของทิวลิป ต้องเข้าใจถึงธรรมชาติของทิวลิปซะก่อนครับ ทิวลิปเป็นดอกไม้มีหัว หน้าตาก็เหมือนหอมหัวใหญ่นี่แหละครับ ทิวลิปขยายพันธุ์ด้วยหน่อ (ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดก็ได้ แต่ใช้เวลา 7-12 ปีกว่าจะออกดอก) หัวทิวลิปหนึ่งหัว ผลิตหน่อได้ปีละสองสามหน่อ และหัวทิวลิปแม่พันธุ์มีอายุแค่สองสามปีหลังจากโตเต็มที่

ดอกทิวลิปบานปีละครั้ง ในช่องฤดูใบไม้ผลิ ประมาณเดือนเมษายนถึงมิถุนายน แต่เนื่องจากหัวทิวลิปหน้าตาเหมือนกันหมด จะให้แน่ใจว่าซื้อหัวอะไรกันแน่ การซื้อขายหัวทิวลิปจึงเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน คือเฉพาะหลังดอกบานเท่านั้น เรียกว่าขุดกันเห็นๆเลยว่าถ้าออกดอกแล้วจะเป็นสีอะไรกันแน่

หลังจากที่ทิวลิปเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในยุโรป ทำให้มีความต้องการหัวทิวลิปเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ราคาของหัวทิวลิป โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธุ์สวยๆ หายากๆ ว่ากันว่าไอ้ดอกที่สวยๆหายากๆเนี่ย เกิดจากการที่ทิวลิปติดเชื้ออะไรสักอย่าง ทำให้เกิด pattern แปลกๆบนดอก แต่ทิวลิปที่ติดเชื้อเนี่ย จะอ่อนแอ และตายง่าย

ด้วยความที่มันหายาก และมีน้อย แต่มีความต้องการมาก ก็ยิ่งทำให้ราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในช่วงปี 1633 มีข่าวว่า มีคนขายฟาร์ม เพื่อแลกกับหัวทิวลิปสามหัว เมื่อข่าวดังกล่าวแพร่กระจายไป ทำให้คนตื่นเต้นกับราคาที่สูงมากของทิวลิป

ภาวะการซื้อขายเก็งกำไรหัวทิวลิปสูงขึ้นสุดๆในช่วงปี 1634-1637 แต่เดิมการขายทิวลิปนั้นจำกัดอยู่เฉพาะคนที่ปลูกทิวลิปขายเท่านั้น แต่ราคาที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเรื่องราวของกำไรที่ได้มาอย่างง่ายดาย ดึงดูดนักเก็งกำไรเข้ามาร่วมปั่นราคาเข้าไปอีก คนกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า florist ครับ คือคนที่ค้าขายดอกไม้เป็นอาชีพ

ราคาที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องคิดราคาหัวทิวลิปกันเป็นกรัมเลยทีเดียว และตอนช่วงที่แพงๆ ราคาหัวทิวลิปต่อกรัม แพงกว่าทองคำเสียอีก เชื่อหรือไม่ละครับ !!!

ใน ปี 1636 เริ่มมีวิวัฒนาการการเงินรูปแบบใหม่เข้ามา เพราะอย่างที่บอกครับ การซื้อขายนั้นทำกันได้แค่ปีละครั้ง หลังดอกออกใหม่ๆ แต่มันยังไม่สะใจครับ เลยเริ่มมีการพัฒนาการซื้อขายสัญญาส่งมอบหัวทิวลิปกัน โดยที่การทำงานของตลาดก็คล้ายกับตลาด futures สมัยนี้ คือ คนซื้อก็ไม่มีเงินจะจ่ายเท่ากับในสัญญา ส่วนคนขายก็ไม่มีหัวทิวลิปในมือ แต่กะว่าจะถ้าครบตามสัญญาก็ settle กันโดยจ่ายส่วนต่างระหว่างราคาที่ตกลงกันไว้ในสัญญา กับราคาตลาดตอนที่ครบกำหนดส่งมอบ

แต่เป็นสัญญาที่ไม่ต้อง mark to market และ ไม่มี margin call

เท่ากับว่าเป็นลงทุนที่ leverage สูงมากๆ และเสี่ยงสุดๆ

แต่การซื้อขายสัญญาทำได้สะดวก และทำกำไรได้มาก ราคายิ่งพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว (แต่กำไรก้อนใหญ่ยังไม่ realize จนกระทั่งถึงวันส่งมอบหัวทิวลิปนะครับ)

ระยะแรกๆก็ซื้อขายกันด้วยเงิน พอเงินไม่มี ก็เริ่มมีจ่ายเงินเป็นของแทน บางคนขายที่ ขายบ้าน มาซื้อหัวทิวลิป

มีการบันทึกไว้ว่า การซื้อขายหัวทิวลิปพันธุ์ viceroy หนึ่งหัว มีการตกลงจ่ายด้วยสินค้าต่อไปนี้

Two lasts of wheat
Four lasts of rye
Four fat oxen
Eight fat swine
Twelve fat sheep
Two Hogsheads of wine [commonly, a hogshead = 63 gals.]
Four tuns of beer [commonly, a tun = 252 gals. That's 15 kegs per tun]
Two tuns of butter
One thousand lbs. of cheese
A complete bed
A suit of clothes
A silver drinking-cup

เรียกว่ามีอะไรให้หมด เพราะกำไรมันเยอะจริงๆ

ลองดูเล่นๆว่า ราคาของทิวลิปพันธุ์หายากอย่าง 'Semper Augustus' เนี่ยราคา 1200 florins ต่อหัว ในปี 1624; ปี 1625 ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 3000 florins; ปี 1633 ราคา 5000 florins; และปี 1637 ราคาสูงถึงหัวละ 10,000 florins ค่าเงินสมัยก่อนคงเทียบลำบากว่าเท่ากับสมัยนี้เท่าไร แต่ เทียบง่ายๆว่า ราคาบ้านหรูริมคลองใน Amsterdam สมัยนั้นราคาแค่ 10,000 florins เรียกว่า ทิวลิปหัวหนึ่ง ราคาเท่าบ้านหลังนึงเลยทีเดียว

ตอนแรกๆราคาที่บ้าระห่ำแบบนี้ จำกัดเฉพาะพันธุ์ทิวลิปหายาก แต่ภายหลัง มันก็ระบาดไปถึงทิวลิปพันธุ์ทั่วไป ขนาดว่าหัวแตกๆ คุณภาพต่ำ ยังขายได้เลยครับ

...

แล้วภาวะฟองสบู่ของทิวลิปก็แตกดังโป๊ะ ในเดือนกุมภาพันธ์ 1637 เมื่อเริ่มคนเริ่มกลัวว่าราคามันชักจะสูงเกินไปแล้ว ว่ากันว่า สัญญาณบอกเหตุของฟองสบู่ที่กำลังจะแตก เกิดขึ้นเมื่อมีข่าวว่าผู้ร่วมประมูลหัวทิวลิปคนหนึ่ง ไม่ซื้อหัวทิวลิปที่ตัวเองประมูลได้

ผู้คนเริ่มแตกตื่น และผิดนัดสัญญาการซื้อขายหัวทิวลิปกันเป็นแถวๆ แล้วราคาหัวทิวลิปก็ลดลงอย่างรวดเร็ว ราคาหัวทิวลิปในอีกห้าปีต่อมา ลดลงเหลือแค่ 1-30% ของราคาสูงสุด ในอีกร้อยปีถัดมา ราคาหัวทิวลิปเหลือไม่ถึง 1 florin ด้วยซ้ำ

แต่ ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ จากการพังทลายของราคาทิวลิปสมัยนั้นมีไม่มาก เพราะการปลูกทิวลิปทำได้แค่ปีละครั้ง และระยะเวลาที่เกิด tulipmania ขั้นรุนแรงที่เกิดขึ้นกับทิวลิปทั่วไปนั้นไม่ยาวนานมากนั้น ไม่พอที่จะทำให้เกิด misallocation of resources (คือไม่ทำให้คนแห่ไปปลูกทิวลิปกันหมด) ความเดือดร้อนจึงถูกจำกัดอยู่เฉพาะพวกแมลงเม่าที่เข้าไปเก็งกำไร นอกจากนี้หลังจากราคาทิวลิปตกฮวบฮาบ สัญญาต่างๆก็ settle กันจริงๆที่ปริมาณไม่สูงนัก ไม่ทำให้คนเดือดร้อนมากนัก

...

ฟังดูแล้วเศร้าไหมครับ เรื่องราวก็คล้ายกับภาวะฟองสบู่อื่นๆ คือตอนที่มันขึ้นกันอย่างบ้าระห่ำ ทุกคนคิดว่ามันจะต้องขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด แต่ตอนราคามันตก ก็ตกไม่ลืมหูลืมตาเหมือนกันครับ

tulipmania นี้เป็นเรื่องเล่าที่ติดไปกับคำว่าฟองสบู่ และประวัติศาสตร์ประเทศฮอลแลนด์ไปได้อีกนานครับ

...

ใครสนใจไปลองอ่านเพิ่มเติมได้ครับ สนุกดี

Mike Dash, 2001, Tulipomania : The Story of the World's Most Coveted Flower & the Extraordinary Passions It Aroused

Charles MacKay, 1841, Extraordinary Popular Delusions and the Madness of Crowds.

Peter M. Garber, 1989, "Tulipmania," Journal of Political Economy, Vol. 97, No. 3, pp. 535-560.

2 Comments:

At 8:50 AM, Anonymous Anonymous said...

ซี้ดดดด... เนื้อหาสาระเพียบ เอาไปรวมเล่มกะของอาจารย์ปิ่นได้เลยนะเนี่ย

 
At 12:39 PM, Blogger pin poramet said...

คุณ ana คอนด้อม เมื่อไหร่จะไปเปิด blog ครับ เห็นเข้ามาแจมเรานานแล้ว (ต้อนรับด้วยความยินดี :))

ว่าแต่เรารู้จักกันไหม

 

Post a Comment

<< Home