Thursday, June 30, 2005

ฟองสบู่? (ตอนที่ 2)

จากคราวที่แล้วที่ตั้งคำถามไว้ว่า ฟองสบู่ คืออะไร และเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าเรากำลังอยู่ในฟองสบู่หรือไม่

คุณปิ่นมาร่วมสนทนาและบอกว่า ฟองสบู่ เกิดจากการไล่ซื้อเก็งกำไร โดยไม่มี “ของจริง” หนุนหลัง

ผมเห็นด้วยครับ แล้วก็มีคำถามเกิดขึ้นมากมาย เช่นว่า แล้ว “ของจริง” มันคืออะไรละ คนที่เชื่อในกลไกตลาดก็คงจะบอกว่า ราคาตลาดก็ควรจะเป็นราคา “ของจริง” ไม่ใช่เหรอ เพราะถ้าราคามันเกิน “ของจริง” น่าจะมีคนทำกำไร จากส่วนต่างของราคาตลาด กับ “ของจริง” จนราคาตลาดมันเท่ากับมูลค่า “ของจริง” ทำไมในกรณีนี้กลไกตลาดถึงไม่ทำงาน?

แล้วฟองสบู่เกิดได้อย่างไรละ์? แล้วถ้าเกิดฟองสบู่ขึ้นมา คนที่อยู่ในฟองสบู่ควรจะทำอย่างไร

สมมุติว่า นายปื้ด กำลังตัดสินใจซื้อบ้าน ที่ดิน หุ้น หรือทรัพย์สินอื่นๆ แล้วเห็นราคาขึ้นไปเรื่อยๆ เขาควรจะตัดสินใจอย่างไร? เข้าไปซื้อเลย หรือรอดูอยู่ห่างๆ หรือว่า short sell ทรัพย์สินนั้นซะเลย เพื่อหวังกำไรในกรณีที่ฟองสบู่แตก แล้วราคาทรัพย์สินนั้นลดลง

ถ้าเข้าไปซื้อแล้วฟองสบู่เกิดแตกขึ้นมา ขาดทุนก็เจ็บตัว ถ้ารอดูอยู่ห่างๆ เกิดราคาขึ้นไปก็เสียดาย

แล้วรัฐบาลละควรจะทำอะไรกับฟองสบู่ไหม? ธนาคารกลางควรแทรกแซงหรือไม่ ทุกวันนี้หลายประเทศใช้ inflation targeting เป็นหลักในการดำเนินนโยบายการเงิน ใน inflation นั้น ควรรวม asset price inflation เข้าไปด้วยหรือเปล่า?

ถ้าใครคิดว่าฟองสบู่เป็นเรื่องของพวกนายปื้ด ที่มานั่งกลุ้มใจ ว่าลงทุนดีหรือไม่ลงดี ผมว่าไม่ใช่นะ มันมีผลกระทบไปถึงเด็กตามท้องไร่ท้องนาเลยทีเดียว ไม่เชื่อลองดูฟองสบู่เมืองไทย เมื่อ 7-8 ปีก่อนดูสิ

ฟองสบู่ทำให้กลไกทางเศรษฐกิจ และการตัดสินใจทางเศรษฐกิจบิดเบี้ยวไป เมื่อราคาทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากๆ ทำให้ “ความมั่งคั่ง” ของเจ้าของทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ทำให้การจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ทั้งๆที่ “รายได้” อาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม

ชาวนาขายที่นาได้ ก็เอาไปถอยกระบะ มีเมียอยู่คนเดียวก็ไปหาเพิ่มสักคนสองคน แล้วไปถอยมือถือมาแจกเมียคนละเครื่องสองเครื่อง

สิ่งที่ตามมาคือระบบเศรษฐกิจทั้งระบบเติบโตอย่างไม่มี “ของจริง” จนเกิดภาวะที่เรียกว่า illusion เพราะตัวเลขทุกอย่างดูดีไปหมด รัฐบาลมีรายได้เยอะ (บางรัฐบาลอาจนึกว่าตัวเองเจ๋งแล้วสั่งลดภาษีซะเลย) ตัวเลขสถาบันการเงินดูแข็งแรง เพราะลูกค้ามีตังค์ยังจ่ายคืน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วทำให้ดูเหมือนว่า productivity เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

อาจกล่าวได้ว่า ภาวะฟองสบู่ส่งผลกระทบถึงความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน และระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ เลยทีเดียว

ว่าเข้าไปนั่น......เลยยังไม่ได้ตอบคำถามเลย ว่าฟองสบู่คืออะไร

ถ้าจะอธิบายแบบกำัปั้นทุบดินก็คือ ภาวะฟองสบู่ คือภาวะที่ราคาทรัพย์สินเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แล้วก็ลดลงฮวบฮาบในภายหลัง (อธิบายตอนหลังเกิดแล้วนี่แหละง่ายดี)

และแนวโน้มของราคาที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น ทำให้ผู้ลงทุน คาดคะเนว่า ราคาคงเพิ่มอย่างนั้นไปเรื่อยๆ ประมาณว่าคงเรียนเศรษฐมิติมาเหมือนกัน แล้วลากเส้น trend แล้วกะเลยว่า ปีหน้าราคาต้องขึ้นเท่านี้เท่านั้นแน่ๆ แล้วก็แห่เข้าซื้อเพื่อหวังได้กำไรจากการเพิ่มขึ้นของราคา มากกว่า “ผลประโยชน์” หรือ “ผลตอบแทน” ที่ได้จากการเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น

หรือบางคนก็บอกว่า ฟองสบู่ คือภาวะที่ราคาเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าที่จะอธิบายได้ด้วย fundamental แต่อย่างที่บอก ไม่มีใครรู้อยู่ดีว่า fundamental คืออะไร

ส่วนคำถามที่ว่า ถ้ามีคนคิดว่ากำลังมีฟองสบู่อยู่ ทำไมกลไกราคาไม่ทำงานละ? ผมเดาว่า เป็นเพราะ ....

(1) การ short sell ทำได้ลำบาก เช่น ถ้ามีคนเชื่อว่าราคาบ้านกำลังเป็นฟองสบู่ แต่จะ short บ้านได้ไงนะ? ถ้ายืมบ้านเพื่อนบ้านมาขายก่อน แล้วสัญญาว่าวันหลังจะซื้อคืนให้ จะมีใครให้ยืมไหมน้า หรือสร้างบ้านมาใหม่แล้วขาย ก็ได้ครับ แต่ก็ลงทุนเยอะหน่อย

(2) ไม่มี arbitrage opportunity เพราะว่า ไม่มีใครรู้ว่า “ของจริง” คืออะไร คงไม่รู้จะไปซื้อ “ของจริง” จากที่ไหนมาทำ arbitrage หรือถ้ามีคงต้องลงทุนกันเยอะหน่อย (เช่น ตั้งบริษัท dot com แล้วเอาหุ้นมาขายเองซะเลย)

(3) การ short sell ก็มีต้นทุนนะ (เช่น การยืมทรัพย์สินชาวบ้านมาขาย ก็ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้เขาด้วย) ถึงจะถือ short position ได้ แต่ถ้าไม่รู้ว่าฟองสบู่จะอยู่ไปอีกนานแค่ไหน การ short ดังกล่าวก็คงเสี่ยงน่าดู ตัวอย่างเช่น ระหว่างที่มี dot com bubble หลายคนคงคาดได้ว่า ยังไง ยังไง ราคาก็คงตก แต่ถ้าเริ่ม short ตั้งแต่ฟองสบู่เริ่มเกิด กว่าฟองสบู่จะแตก คนที่ short ก็คงเจ๊งกันพอดี เพราะฟองสบู่อยู่กันได้เป็นปีๆ!

แล้วอะไรทำให้ฟองสบู่แตกเหรอ?

อันนี้ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจ แต่จากประสบการณ์ที่เห็นฟองสบู่มาสองสามรอบ ผมว่าเป็นอุบัติเหตุมากกว่า (ภาษาเนียนๆ เขาเรียก sunspot ผมไม่รู้เหมือนกัน ว่าแปลว่าอะไร) คือก่อนฟองสบู่จะแตก ทุกคนจะพูดถึงฟองสบู่กันหมด ฟองสบู่งั้น ฟองสบู่งี้ แต่พูดกันไปก็ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น ราคาก็ขึ้นไปเรื่อย

จนกระทั่ง มันเกิดอุบัติเหตุ อะไรขึ้นสักอย่าง แล้วคนเกิดเริ่มหมดความเชื่อมั่นใน “trend” ขึ้นมา ราคาก็หล่นหน้าตาเฉย เช่น บิ๊กจิ๋วชนะการเลือกตั้ง อาร์โนลด์เล่นคนเหล็กภาคสาม พานทองแท้เหยียบเท้าลูกเหลิม หรืออยู่ๆธนาคารก็เจ๊งไปสักแห่ง

แล้วราคาก็เริ่มลดลง คนเริ่มเทขาย เพื่อตัดขาดทุน พวกที่ลงทุนโดยกู้เงินมาเล่นเยอะๆ ก็เริ่มเจ๊ง จนต้องรีบขายทรัพย์สินนั้น ราคาก็หล่นเร็วมากขึ้น แล้วฟองสบู่ก็แตก

ดังโป๊ะ.....

----------------------------------------------------------------------

โอ้ย เริ่มเหนื่อยแล้ว

เก็บเอาไว้ตอนต่อไป ผมจะมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับ ประวัติของฟองสบู่ และเรื่่องราคาบ้าน กับฟองสบู่ครับ ว่าเกิดอะไรขึ้นที่นี่ ทำไมหลายคนถึงบอกว่า กำลังเป็นภาวะฟองสบู่? (ผมฟังเขามาอีกทีครับ)

ใครมีความเห็นยังไง อยากร่วมออกความเห็นเชิญครับ

0 Comments:

Post a Comment

<< Home